Saturday, 6 September 2014

กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังกับการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนไป

อิทธิพลของกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง...?

กภ.สิริชัย บุญวัฒนกุล  ( ฮอล์ล )
คลินิกกายภาพบำบัดพีเฮชพี

     ร่างกายเราถูกสร้างมาเพื่อให้เคลื่อนไหว ทุกการเคลื่อนไหวเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อ ทุกกล้ามเนื้อทำงานโดยการหด-คลายเส้นใยกล้ามเนื้อ เมื่อใยกล้ามเนื้อหดตัวก็จะดึงกระดูกที่กล้ามเนื้อนั้นเกาะอยู่ให้หดเข้าหากัน จึงมองเห็นเป็นการเคลื่อนไหว โดยส่วนใหญ่ในแต่ละการเคลื่อนไหวมักเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อหลายๆมัดช่วยกัน

    ในขณะที่กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบหรือบาดเจ็บ บริเวณนั้นก็จะเกิดกระบวนการป้องกันการบาดเจ็บ ( Protective Mechanism ) ทำให้เกิดภาวะเกร็งตัว ใยกล้ามเนื้อหดรั้ง ซึ่งภาวะนี้เกิดเพื่อให้ร่างกายเราขยับบริเวณนั้นน้อยลง จะได้เกิดการพัก และเกิดกระบวนการฟื้นฟูร่างกายอย่างเต็มที่ ( Healing Process ) แต่ทุกคนมักไม่ปล่อยให้ร่างกายเราได้หยุดพักแบบนั้น เราก็ยังคงใช้ร่างกายเราทำโน่นทำนี่ทั้งๆที่มันส่งสัญญานบอกแล้วว่าต้องพัก

      สมมุติว่า มีการเคลื่อนไหวบางอย่างที่จะต้องใช้การทำงานของกล้ามเนื้อ 4-5 มัดช่วยกันทำให้เกิดการเคลื่อนไหว แล้วถ้ากล้ามเนื้อมัดที่ 1 เกิดการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อมัดที่ 2-5 ก็ต้องทำหน้าที่แทน ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อไปในกล้ามเนื้อเหล่านั้นอีก ซึ่งการใช้กล้ามเนื้อหรือร่างกายส่วนอื่นมาช่วยทำงานจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ เพราะตัวเราสั่งให้มีการเคลื่อนไหวนั้น ทั้งๆที่สภาพร่างกายเราบาดเจ็บจนแทบจะขยับไม่ได้แล้ว

     เมื่อกล้ามเนื้อหลายๆมัดเกิดการหดรั้งนานเข้า โครงสร้างร่างกายก็จะบิดเบี้ยวไปเรื่อยๆ ตามการหดรั้งของกล้ามเนื้อที่มีปัญหา เริ่มเกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง ต่อมาก็จะเริ่มรู้สึกตัวมันหนักๆ ขยับเคลื่อนไหวไม่คล่อง เราก็จะเคลื่อนไหวน้อยลง จะทำไรก็จะรู้สึกขี้เกียจไม่อยากลุกไม่อยากขยับตัว นานเข้าก็จะเริ่มมีปัญหาข้อยึดติดตามมา เลวร้ายที่สุดก็จะเกิดปัญหากับระบบประสาท ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า

ตัวอย่างดังรูปข้างล่าง


     จากรูป ถ้ามองเผินๆ อาจจะคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร ก้มหลังได้เยอะกว่าเราอีก แต่ในความเป็นจริงคนนี้มีความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณหลังส่วนล่างเรื้อรังจนร่างกายเรียนรู้ที่จะไม่ขยับบริเวณนั้นและไปใช้การเคลื่อนไหวบริเวณอื่นทำหน้าที่แทน ถ้าเราสังเกตการก้มตัวที่ถูกต้องหลังจะต้องมีความโค้งงอของหลัง แต่ในภาพบริเวณหลังไม่มีการเคลื่อนไหวเลย ( พิจารณาที่เส้นสีเขียว ) โดยคนนี้เวลาก้มหลังจะใช้การดันสะโพกไปทางด้านหลัง ( ตามลูกศรสีเหลือง ) แทนการงอหลังโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าเป็นการก้มตัวตามปกติแนวของข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า จะต้องอยู่ในแนวเส้นตรงใกล้เคียงกัน ( สังเกตเส้นสีแดง ) ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ทำการก้มหลังก็จะก่อให้เกิดความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายส่วนอื่นที่ต้องมาทำหน้าที่แทน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างบริเวณสะโพก, น่อง ฯลฯ
     
     นี่เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างของอิทธิพลของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติเรื้อรัง ซึ่งทุกครั้งที่เราใช้งานมันต่อไปโดยไม่รู้ตัว จนก่อให้เกิดความผิดปกติทางโครงสร้างร่างกายในระยะยาวต่อไป